มีใครเคยสงสัยหรือไม่ว่า e-Commerce คืออะไร? และ e-Commerce Platform คืออะไร? จริงๆ แล้ว ยุคปัจจุบันถือเป็นยุคสมัยที่มีธุรกิจขายออนไลน์เยอะมากที่สุด ซึ่งมักจะนิยมขายกันตาม Platform ต่าง ๆ เช่น Shopee Lazada TikTok Shop เป็นต้น หรือบางธุรกิจก็เน้นขายในเว็บ eCommerce โดยจะออกแบบเว็บไซต์เป็นของตัวเอง เปรียบเสมือนมีหน้าร้านอยู่บนโลกออนไลน์
อย่างไรก็ตาม ภายในบทความนี้จะพาคุณไปทำความรู้จักว่า ทำเว็บไซต์ตัวเองหรือขายของบน e-Commerce Platform แบบไหนจะดีกว่ากัน รวมถึงแนะนำความหมายของ e-Commerce ให้คุณทราบด้วยเช่นกัน ดังนั้น เพื่อไม่เป็นการเสียเวลา เราไปติดตามบทความพร้อมๆ กันเลย
e-Commerce คืออะไร
e-Commerce หรือ อีคอมเมิร์ซ คือการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (ขายของออนไลน์) โดยเกิดขึ้นในรูปแบบของเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน หรือตามแพลตฟอร์มต่าง ๆ โดยการทำธุรกิจรูปแบบนี้ จะทำให้ผู้ขายหรือเจ้าของธุรกิจ สามารถขยายช่องทางการขายไปถึงกลุ่มลูกค้าได้กว้างมากยิ่งขึ้น รวมถึงยังช่วยทำให้ผู้ที่ใช้สินค้าและบริการ ได้รับอำนวยความสะดวก ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปซื้อของนอกบ้านอีกด้วย
เว็บไซต์ e-Commerce คืออะไร
เว็บไซต์ e-Commerce คือ เว็บไซต์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้เจ้าของธุรกิจ ขายสินค้าและบริการในรูปแบบออนไลน์ โดยภายในเว็บไซต์จะแสดงถึงรายละเอียดต่าง ๆ ของสินค้า เช่น รูปภาพ ราคา คำอธิบาย รีวิว และอื่น ๆ นอกจากนี้จะมีฟังก์ชันที่ช่วยเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ที่เข้ามายังเว็บไซต์ เช่น ระบบเพิ่มสินค้าลงตะกร้า ระบบชำระเงิน การติดตามคำสั่งซื้อ แสดงจำนวนสินค้าแบบ Real-Time เป็นต้น
การสร้างเว็บไซต์ eCommerce ของตัวเอง
การสร้างเว็บไซต์ e-Commerce เป็นของตัวเอง อาจจะมีกระบวนการสร้างที่ซับซ้อน และจำเป็นต้องใช้ความรู้ด้านไอทีอยู่พอสมควร อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายในราคาที่สูงด้วย เพราะหากคุณไม่มีความรู้ด้านไอที จำเป็นต้องจ้างคนจากภายนอก เพื่อให้มาทำเว็บ eCommerce ของตัวเอง รวมไปถึงต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำ e-Commerce SEO อีกด้วย เรียกได้ว่า ถ้าไม่มีความรู้ด้านไอที การสร้างเว็บอีคอมเมิร์ซเป็นของตัวเอง อาจจะไม่ใช่เรื่องที่น่าลงทุนเท่าที่ควร
e-Commerce Platform คืออะไร
e-Commerce Platform คือ เว็บไซต์ e-Commerce สำเร็จรูป ช่วยให้ผู้ประกอบการหรือผู้ที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจออนไลน์ มีร้านค้าเป็นของตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องมีทักษะด้านไอที ซึ่ง e-Commerce Platform ในไทยที่มีผู้ประกอบการลงขายสินค้าออนไลน์ เช่น Lazada, Shopee, Kaidee และอื่น ๆ ส่วน e-Commerce Platform ต่างประเทศที่นิยมซื้อขายกันมากที่สุด เช่น Taobao, Amazon, eBay เป็นต้น ทั้งนี้แต่ละแพลตฟอร์มจะมีความเป็นสากลหรือใช้ได้ในหลายประเทศอีกด้วย
เปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย
การตัดสินใจระหว่างการสร้างเว็บไซต์ของตัวเองหรือการขายสินค้าผ่าน e-Commerce Platform มีความสำคัญในการเริ่มต้นขายของออนไลน์ หรือผู้ที่ต้องการเพิ่มช่องทางในการขายให้กว้างขึ้น ดังนั้นเราจะมาเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสีย เพื่อให้คุณนำข้อมูลไปตัดสินใจได้ราบรื่นยิ่งขึ้น
การมีเว็บไซต์ e-Commerce ของตัวเอง
ข้อดี
- ความยืดหยุ่น: เนื่องจากการสร้างเว็บไซต์ eCommerce ของตัวเอง สามารถควบคุมและปรับแต่งได้อย่างอิสระ เช่น กำหนดราคา การแสดงผลสินค้า จัดหมวดหมู่ และรูปแบบการจำหน่ายสินค้า เป็นต้น หรือจะเพิ่มโปรโมชัน ส่วนลด สะสมคะแนน ก็ได้เช่นกัน
- ระบบชำระเงิน: การมีเว็บไซต์ของตัวเอง ทำให้คุณสามารถเลือกระบบการชำระเงินได้หลากหลาย ทั้งการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต, QR Code, โอนเงินผ่านบัญชี หรืออินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง
- e-Commerce SEO: เมื่อคุณสร้างเว็บไซต์ร้านค้าเป็นของตัวเอง จะช่วยให้คุณจัดทำ SEO ให้กับสินค้าและบริการได้อย่างเต็มที่ ถือเป็นการเพิ่มโอกาสให้สินค้าและบริการ ติดอันดับต้น ๆ ในหน้าเครื่องมือค้นหาอย่าง Google ได้นั่นเอง
- มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว: สามารถออกแบบหรือตกแต่งเว็บไซต์ได้ตามที่ต้องการ หรือรูปแบบการจัดวางสินค้าให้เหมาะสมกับสไตล์ของคุณ ช่วยให้ร้านค้าออนไลน์ดูโดดเด่นมากยิ่งขึ้น
- เชื่อมต่อกับ Social Media: ทำให้ร้านค้าของคุณเชื่อมต่อ Social Media ได้โดยตรง ไม่ผิดกฎหรือข้อกำหนดต่าง ๆ
ข้อเสีย
- ต้นทุนสูง: หากคุณไม่มีความรู้ด้านไอทีเลย หรือการเขียนโค้ด จำเป็นต้องจ้างบริการบุคคลภายนอก ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงพอสมควร และต้องจ้างคนมาดูแลเว็บไซต์ให้คุณอีกด้วย
- ด้านความปลอดภัย: การทำธุรกรรมบนเว็บไซต์มีความเสี่ยง ซึ่งถ้าเกิดข้อผิดพลาด คุณต้องแสดงความรับผิดชอบ และต้องมั่นใจว่าข้อมูลของลูกค้าจะไม่รั่วไหล
- การเติบโตในตลาด: แน่นอนว่าการที่มีเว็บไซต์ของตัวเอง จะไม่ได้รับการสนับสนุนจาก Platform ใด ๆ เลย ต้องทำการตลาดด้วยตนเอง และตลาดก็มีการแข่งขันค่อนข้างสูงเช่นกัน
ขายสินค้าผ่าน e-Commerce Platform
ข้อดี
- ความสะดวก: ไม่ต้องมีความรู้ด้านไอทีหรือทักษะการเขียนโค้ด ก็สามารถวางขายสินค้าออนไลน์ได้ทันที เพราะภายในมีระบบที่ครอบคลุม ทั้งจัดการสินค้า ราคา ระบบจัดส่ง และการตั้งค่าในส่วนอื่น ๆ
- จัดการคำสั่งซื้อ: คำสั่งซื้อและข้อมูลลูกค้า จะถูกจัดเก็บได้อย่างเป็นระบบ ทำให้การจัดการธุรกิจมีความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- ปรับตัวในตลาดได้อิสระ: สามารถเรียกดูสินค้าของคู่แข่ง เพื่อให้ร้านค้าปรับตัวหรือกลยุทธ์ทางการตลาดได้อิสระ
- ระบบสนับสนุน: ภายใน e-Commerce Platform จะมีทีมงานหรือเจ้าหน้าที่คอยให้คำปรึกษา และให้คำแนะนำการแก้ปัญหาต่าง ๆ ทำให้คุณขายสินค้าได้อย่างราบรื่น
- ขยายกลุ่มลูกค้า: บางแพลตฟอร์มสามารถเข้าถึงกลุ่มตลาดได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ข้อเสีย
- ค่าธรรมเนียมและค่าบริการ: เนื่องจาก e-Commerce Platform ให้คุณวางขายสินค้าได้ฟรี แต่จะเก็บค่าธรรมเนียมและค่าบริการ ทำให้คุณมีต้นทุนการขายสินค้าเพิ่มขึ้น
- การเข้าถึงลูกค้า: e-Commerce Platform จะจำกัดการเข้าถึงกลุ่มลูกค้า ทำให้ต้องใช้เครื่องมือภายในแพลตฟอร์มมาทำการตลาด เช่น การยิงโฆษณา (มีค่าใช้จ่าย) หรือ Affiliate Link เป็นต้น
- จำกัดการปรับแต่ง: แพลตฟอร์มจะจำกัดรูปแบบการปรับแต่งร้านค้า ทำให้ร้านดูไม่โดดเด่นหรือเป็นเอกลักษณ์ได้ยาก
บทสรุป
สำหรับใครที่เกิดคำถามว่า ทำเว็บไซต์ตัวเองหรือขายของบน e-Commerce Platform ดีกว่า? เราขอแนะนำให้คุณพิจารณาความต้องการอย่างละเอียด ซึ่งนำข้อมูลการเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียของทั้ง 2 ตัวเลือก เพื่อให้คุณตัดสินใจที่จะเริ่มต้นขายของออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยทำเว็บไซต์ตัวเอง จะมีเสรีภาพในการปรับแต่ง Branding ได้อย่างเต็มที่ แต่จะต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับข้อมูลของลูกค้าและระบบชำระเงิน อีกทั้งต้องสร้างความไว้วางใจและความน่าเชื่อถือให้แก่ลูกค้า
ส่วน e-Commerce Platform ใช้งานง่าย มีระบบที่ครอบคลุม แสดงค่าธรรมเนียมและค่าบริการชัดเจน แต่มีข้อจำกัดในการปรับแต่ง และการเข้าถึงข้อมูลลูกค้านั่นเอง ดังนั้นคุณสามารถเลือกใช้ e-Commerce ได้ตามที่ต้องการได้เลย!