E-Marketplace คืออะไร? การขายของออนไลน์เป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เพราะความสะดวกสบาย ไม่ต้องเดินทางไปที่ร้านค้าด้วยตัวเอง แต่สามารถค้นหาผ่านอินเทอร์เน็ตบนมือถือที่บ้านหรือที่ไหนก็ได้ ค้นหาสินค้าที่ต้องการ และยังเปรียบเทียบราคาได้ด้วย นอกจากผู้บริโภคที่ได้รับประโยชน์ตรงนี้แล้ว ก็มีหลายๆ คนที่ต้องการขายของออนไลน์ผ่าน E-Marketplace เพื่อหารายได้เพิ่มเติม หรือยึดเป็นอาชีพเสริมหรือหลักในอนาคต
ในบทความนี้เราจะมาชวนผู้อ่านเรียนรู้ไปด้วยกันว่า E-Marketplace คืออะไรและลักษณะของ
E-Marketplace เป็นอย่างไร มาหาคำตอบได้ไปพร้อมๆ กันเลย
E-Marketplace คืออะไร?
E-Marketplace คือตลาดออนไลน์ที่ให้คุณสามารถลงทะเบียนในฐานะผู้ขายหรือผู้ซื้อได้ เพื่อดำเนินธุรกิจผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งเว็บตลาดอิเล็กทรอนิกส์ก็มีหลากหลายประเภทตามโมเดลธุรกิจที่ต่างกันออกไป โดยลักษณะของ E-Marketplace จะเหมือนกับแคตตาล็อกรายการสำหรับสินค้าและบริการออนไลน์ ที่ให้ผู้บริโภคสามารถเลือกดูสินค้าได้ด้วยตัวเอง
E-Marketplace มีอะไรบ้าง
E-Marketplace คือเว็บไซต์อะไร? จริงๆ แล้ว E-Marketplace มีหลายเว็บไซต์มาก แต่ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในไทยก็คือ Shopee, Lazada และ Amazon เรามาทำความรู้จักกับลักษณะของ E-Marketplace แต่ละเว็บไซต์กันว่าใช้งานยังไง มีข้อดี ข้อเสียอะไรบ้าง?
Shopee เป็นแบรนด์อีคอมเมิร์ซสัญชาติสิงคโปร์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในไทยและในอีกๆ หลายๆ ประเทศในเอเชีย เปิดตัวเมื่อปี 2015 ภายในเว็บไซต์ลูกค้าสามารถเลือกซื้อสินค้าได้ตามหมวดหมู่ มีโปรโมชั่นมากมายให้ลูกค้าได้เลือก เช่น Flashsale Shopee Live รหัสโปรโมชั่นลดราคา แนะนำสินค้าที่ได้รับความนิยม มาพร้อมกิจกรรมโปรโมชั่นเนื่องในโอกาสสำคัญต่างๆ และมีวิธีชำระเงินหลายแบบให้เลือก
ข้อดีของการขายสินค้าผ่าน Shopee
- สร้างบัญชีร้านค้าได้ฟรี โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
- มีเครื่องมือทางการตลาดมากมายให้เลือกใช้
- ดำเนินการและติดตามการจัดส่งได้ง่าย ผ่านช่องทางที่รองรับโดย Shopee
- เข้าร่วมแคมเปญของ Shopee ในวันแคมเปญพิเศษเพื่อเพิ่มโอกาสในการขาย
- มีเครื่องมือช่วยเหลือผู้ขายเพื่อสนับสนุนการขายให้กับคุณ
- ขั้นตอนสมัครง่าย เพียงแค่ สร้างบัญชีผู้ใช้ Shopee ตั้งค่าข้อมูลการจัดส่ง อัปโหลดรายการสินค้า และเพิ่มข้อมูลการชำระเงิน
- มีหลากหลายประเภทร้านค้าให้เลือก เช่น ร้านค้า Shopee สำหรับบุคคลธรรมดาหรือ Shopee Mall สำหรับนิติบุคคล
- มีช่อง YouTube: Shopee University Thailand ให้เรียนรู้เทคนิคการขายได้แบบฟรีๆ
ข้อเสียของการขายสินค้าผ่าน Shopee
- คู่แข่งเยอะ หากขายสินค้าที่มีเจ้าอื่นขายเหมือนกัน อาจต้องแข่งกันที่ราคา โปรโมชั่น และบริการที่ดีกว่า
- ค่าธรรมเนียมสินค้าอุปโภคและบริโภคแพงกว่า Lazada
- ขนาดตลาดยังเล็กกว่า Lazada
Lazada มีสำนักงานใหญ่ที่ประเทศสิงคโปร์และเปิดตัวเมื่อปี 2012 จัดกิจกรรมและโปรโมชั่นมากมายพอๆ กับ Shopee ไม่ว่าจะเป็น Flash Sale จัดประเภทของสินค้าให้เลือกชมได้ง่าย มาพร้อมกับคูปองส่วนลดมากมาย มีฐานลูกค้าถึง 10 ล้านคน
ข้อดีของการขายสินค้าผ่าน Lazada
- ขั้นตอนสมัครง่ายเพียงแค่ 4 ขั้นตอน ได้แก่ กรอกเบอร์โทรศัพท์ อีเมลและที่อยู่ ส่งเอกสารยืนยันตัวตน แล้วลงสินค้าขั้นต่ำ 1 ชนิด
- ค่าธรรมเนียมการชำระเงิน ค่าธรรมเนียมการใช้บริการมาร์เก็ตเพลส โปรแกรมส่งฟรีพิเศษ โปรแกรมเงินคืนทุกวัน 0% นาน 30 วัน
- เรียนรู้คอร์สเทคนิคการขายที่ Lazada University แบบฟรี ๆ
- มีทีมงานช่วยดูแลร้านค้าส่วนตัวสูงสุด 90 วัน
- มีฟีเจอร์การวิเคราะห์ธุรกิจที่ช่วยวิเคราะห์กลยุทธ์การขาย
ข้อเสียของการขายสินค้าผ่าน Lazada
- ค่าธรรมเนียมสินค้าอิเล็กทรอนิกส์บางประเภทแพงกว่า Shopee
- คู่แข่งเยอะ โดยเฉพาะของราคาถูกจากจีน
Amazon คือ E-Marketplace ที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นต้นแบบของ E-Marketplace ของฝั่งเอเชียอย่าง Lazada และ Shopee ด้วย มีค่าธรรมเนียมตายตัวอยู่ที่ 0.99 ดอลลาร์ทุกครั้งที่ขายไอเท็มได้ หรือแผนแบบรายเดือนที่ 39.99 ดอลลาร์ อาจเริ่มขายจากสินค้าขายดีใน Amazon หรือนำสินค้าที่ผลิตมาขายเอง หรือทำควบคู่ไปทั้งสองอย่างก็ได้
ข้อดีของการขายสินค้าผ่าน Amazon
- มีฐานลูกค้าขนาดใหญ่จากทั่วโลก
- มีค่าธรรมเนียมแบบตายตัว ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมตามเปอร์เซ็นต์ของราคาสินค้า
ข้อเสียของการขายสินค้าผ่าน Amazon
- ต้องดำเนินการเป็นภาษาอังกฤษ
- ต้องใช้เอกสารและข้อมูลหลายอย่างในการสมัคร เช่น บัตรเครดิตที่ใช้งานได้ระหว่างประเทศ บัตรประชาชน ข้อมูลด้านภาษี เบอร์โทรศัพท์ และข้อมูลธนาคาร เป็นต้น
บทสรุป
E-Marketplace คืออะไร? หวังว่าคุณจะสามารถตอบคำถามต่าง ๆ ที่สงสัยได้จากบทความนี้ ลองเปรียบเทียบ E-Marketplace ที่ได้รับความนิยมในไทยข้างต้น เพื่อดูว่าแพลตฟอร์มไหนที่เหมาะสำหรับการขายสินค้าของคุณมากที่สุด หากไม่ต้องการดำเนินการเป็นภาษาอังกฤษ อาจจะต้องลองเป็น Lazada และ Shopee แทน หรือเปิดทั้งสองร้านค้าเลยก็ได้ เพื่อโอกาสในการเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น