หากใครที่กำลังมีแพลนที่กำลังจะเปิดตัวธุรกิจใหม่อยู่ แต่! ไม่รู้ว่าจะเริ่มจับต้นชนปลายยังไงดี มาลองเริ่มต้นศึกษา Marketing Mix หรือส่วนผสมทางการตลาดกันสักหน่อย ซึ่งถ้าคุณเข้าใจและนำไปปรับประยุกต์ในธุรกิจของคุณ รับรองเลยว่าจะเห็นธุรกิจอยู่รอดและเติบโตได้คงไม่ใช่เรื่องไกลตัวแน่นอน!
แล้ว Marketing Mix แบบ 4Ps คืออะไรล่ะ?
Marketing Mix คือส่วนผสมทางการตลาดหรือเรียกได้ว่าเป็นกลยุทธ์ที่คุณจะต้องวางแผนวิเคราะห์รายละเอียดในการดำเนินธุรกิจ
ส่วนเจ้า 4Ps นี้เป็น Framework โมเดลแรกที่ถูกคิดขึ้นมาโดยนักการตลาดและนักวิชาการ Jerome E. McCarthy โดยเป็นการสรุปเอาหัวใจของวงจรธุรกิจมาไว้ด้วยกัน 4 ข้อ ตั้งแต่แรกเริ่มเลยจะมีส่วนประกอบหลักๆ จะมีด้วยกันอยู่ 4 ข้อที่หลายอาจจะพอคุ้นหูกันมาบ้าง อย่าง 4Ps ซึ่งก็คือ Product, Price, Placement และ Promotion
โดยทั้ง 4 ข้อนี้ เรียกได้ว่าเป็นที่รู้จักและถูกนำไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจอย่างกว้างขวาง ตัวคุณเองถ้ากำลังจะเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ก็ต้องตีโจทย์ให้แตกและหา 4Ps ของตัวเองให้ได้อย่างชัดเจน ส่วนรายละเอียดของทั้ง 4Ps จะมีเป็นยังไงบ้าง ลองไปดูกัน
Product
P แรก คือ Product เราจะต้องรู้ก่อนว่าสินค้าหรือบริการที่เราจะขายคืออะไร? คนซื้อสินค้าชิ้นนี้หรือบริการของเราคือใคร? และทำไมลูกค้าถึงต้องเลือกซื้อสินค้าหรือบริการของเรา จุดเด่นที่ทำให้สินค้าและบริการของเราเหนือกว่าคู่แข่งในท้องตลาดคืออะไร? ซึ่งหากสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน ก็จะทำให้คุณรู้จักตัว Product สินค้าของคุณมากยิ่งขึ้น
Price
ราคาไม่ได้เป็นตัวตัดสินอันดับหนึ่งเสมอไปว่าลูกค้าจะเลือกสินค้าของเราเพราะเหตุนั้น เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องตั้งราคาถูกไว้ก่อน เพื่อดึงดูดลูกค้า แต่ให้คุณคำนึงความสมเหตุสมผลและความคุ้มค่าของกำไรเมื่อเทียบกับต้นทุนเป็นหลัก เพราะถ้าสินค้าและบริการของเรามีคุณภาพจริง อีกทั้งยังมีราคาที่สมเหตุสมผล ยังไงลูกค้าก็ยอมควักเงินจ่ายอยู่แล้ว
Place
Place คือ สถานที่ แต่สถานที่นี้ไม่ได้หมายถึงการมีพื้นที่เพื่อวางของโชว์เสมอไป แต่หมายความรวมถึงช่องทางในการจัดจำหน่ายสินค้า (ทั้งออนไลน์และออฟไลน์) เราต้องหาข้อมูลและวิเคราะห์ดูว่ากลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่จะซื้อสินค้าและบริการของเรา มีแนวโน้มว่าจะไปสถานที่ไหน หรือมีแนวโน้มที่จะใช้ช่องทางออนไลน์ช่องทางไหน เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าควรจะจำหน่ายสินค้าช่องทางใดและที่ไหน เพื่อให้ตอบโจทย์และสามารถที่จะนำเสนอสินค้าได้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด
Promotion
นอกจากเรื่องทำการตลาดแล้ว Promotion ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะทำให้ยอดขายของสินค้าเพิ่มขึ้นได้ รูปแบบธุรกิจแต่ละธุรกิจอาจจะแตกต่างกัน ทำให้มีลักษณะของการโปรโมทสินค้าที่แตกต่างกันด้วย แต่โดยทั่วไปแล้วสินค้าและบริการล้วนแล้วมักจะออก Promotion ต่างๆ มาเป็นครั้งคราว เพื่อกระตุ้นความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย
หลักการสร้าง Promotion ที่ดี คือ การทำให้ลูกค้ามองเห็นถึงความคุ้มค่าจะเกิดการซื้อสินค้าและบริการนั้นๆ โดยที่ไม่ได้ลดถอนคุณภาพหรือคุณค่าในตัวแบรนด์หรือสินค้า/บริการของเราลงไป บางครั้งการลดแหลกแจกแถมที่มากเกินไปจะทำให้ลูกค้ารู้สึกคลางแคลงสงสัยในตัวสินค้าและบริการ มากกว่าที่จะสนใจอยากจะซื้อ
7Ps คืออะไร ? ต่างจาก 4Ps อย่างไร ?
7Ps คือ Marketing Mix แบบ 4Ps ที่มีอีก 3 องค์ประกอบเข้ามาเสริมทัพ รวมทั้งยังเป็นการขยายมุมมองการวิเคราะห์ให้กว้างขวางและครอบคลุมมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขายและปรับปรุงแบรนด์ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น
People
P ตัวนี้หมายถึงบุคลากรทางธุรกิจภายใต้การบริหารงานของผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการ การที่คุณมีบุคลากรซึ่งเป็นผู้ดำเนินงาน ผู้ขายสินค้า หรือผู้ให้บริการที่ดี มีใจรักในการบริการ สามารถสร้างความประทับให้กับลูกค้า ก็จะเปรียบเสมือนเป็นภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธุรกิจของคุณไปโดยปริยาย
Process
P ต่อมาคือ กระบวนการจัดการระบบภายในธุรกิจ เป็นอีกเรื่องที่คุณห้ามมองข้ามเด็ดขาด ยิ่งมีความเป็นระบบระเบียบ รวดเร็วและเกิดความผิดพลาดน้อยที่สุดเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะสร้างความประทับใจให้ลูกค้าเท่านั้น เพราะจะทำให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่าที่เลือกซื้อสินค้าหรือเลือกใช้บริการธุรกิจของคุณ
Physical Evidence
Physical Evidence คือสิ่งที่ลูกค้าจับต้องไม่ได้แต่ใช้ความรู้สึกสัมผัสได้จากการสังเกต เช่น บรรยากาศภายในร้าน ความใส่ใจในการบริการ ความสวยงามของแพ็คเกจ การทำแบรนด์ดิ้ง ความสวยงามของเว็บไซต์ ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของคอนเทนต์บนโซเซียล ความน่าเชื่อถือ ความเป็นมืออาชีพ ความรวดเร็วในจัดการ ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ลูกค้ามองเห็นถึงความพิเศษของแบรนด์ที่นอกเหนือไปจากตัวสินค้าและบริการ ลูกค้าจะรู้สึกเชื่อใจและมั่นใจที่จะเลือกซื้อสินค้าและบริการของธุรกิจของเรา
เทคนิคการประยุกต์ใช้ 7Ps ในออนไลน์มาร์เก็ตติ้ง
เมื่อมีโลกของอินเทอร์เน็ตเข้ามาเกี่ยวข้อง การทำธุรกิจที่เปลี่ยนไปเป็นแบบออนไลน์มากขึ้นก็ไม่ได้ทำให้ Framework 4Ps หรือ 7Ps นั้นล่าสมัยแต่อย่างใด ยังคงนำคอนเซ็ปท์มาปรับใช้ให้เข้ากับแต่ละธุรกิจทุกรูปแบบได้อยู่เสมอ
Product ในออนไลน์มาร์เก็ตติ้ง
อาจจะดูเป็นองค์ประกอบ P (ผลิตภัณฑ์และสินค้า) ที่ดูเหมือนไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมาก สินค้าก็คือสินค้าใช่ไหม เคยขายหน้าร้านยังไงออนไลน์ก็คงเหมือนเดิมหรือเปล่านะ?
จริงๆ แล้วไม่เสมอไป แน่นอนว่าลักษณะทางกายภาพของตัวสินค้าและบริการนั้นไม่เปลี่ยนแปลงไปหรอก แต่สิ่งที่เปลี่ยนคือ บริบทของการขายสินค้า คนที่จะซื้อสินค้าและบริการเหล่านั้น พฤติกรรมการซื้อที่เปลี่ยนไปตามสมัยนิยม
ยิ่งการมีโซเชียลมีเดียและอินเทอร์เน็ตยิ่งทำให้กระแสและสมัยนิยม (Fashion) ที่ว่านั้นเปลี่ยนแปลงเร็วยิ่งกว่าในอดีต สินค้าบางอย่างก็มาไวไปไว สินค้าบางอย่างก็มาแล้วคงความนิยมอยู่ได้นาน
ไหนจะต้องคิดถึงการพรีเซนต์สินค้าในช่องทางออนไลน์ เพราะการขายออนไลน์นั้นลูกค้าไม่สามารถจับต้องหรือเห็นด้วยตาจริงๆ ของตัวเองได้ การจะ Display สินค้าให้น่าสนใจจึงเป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่ต้องแก้
ดังนั้นการตอบคำถามที่ว่า จะขายสินค้าอะไร ขายยังไง และขายให้ใคร จึงเป็นคำถามที่ต้องคิดอยากรอบคอบมากขึ้นกว่าเดิม
Price ในออนไลน์มาร์เก็ตติ้ง
การซื้อขายในโลกออนไลน์ทำให้การเปรียบเทียบราคาก่อนตัดสินใจซื้อเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นมาก แค่ลูกค้าทักแชทไปสอบถามราคาหลายๆ ร้านก็ทำให้รู้ว่าราคาแตกต่างกันอย่างไรแล้ว ดังนั้นในฐานะผู้ประกอบการเจ้าของธุรกิจจึงต้องมีการทำการรีเสิร์ชราคาอย่างถี่ถ้วน และตั้งราคาสินค้าอย่างสมเหตุสมผล
นอกเหนือจากการตั้งราคาสินค้าโดยคำนึงถึงราคาสินค้าของคู่แข่งในตลาดแล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่ต้องคำนึงถึงคือเรื่องของ shipping fees หรือค่าส่ง เพราะการเสนอส่วนลดค่าส่ง หรือส่งฟรี เป็นข้อเสนอที่ดึงดูดนักช็อปได้มากที่สุดเลยก็ว่าได้
Place ในออนไลน์มาร์เก็ตติ้ง
ตอนที่โลกยังไม่รู้จักอินเทอร์เน็ต หรือแม้แต่ตอนที่รู้จักอินเทอร์เน็ตแล้ว แต่ก็ยังไม่อยู่ที่จุดที่เฟื่องฟูสุดขีดเช่นทุกวันนี้ Place การตลาดของตอนนั้นย่อมจะตีความได้ว่าเป็นสถานที่จริงๆ แบบจับต้องได้ เช่น แผงขายของ บ้านเช่า หรือสถานที่อื่นๆ แต่ทุกวันนี้ Place ในออนไลน์มาร์เก็ตติ้งย่อมจะตีความได้กว้างขึ้นกว่าเดิมอย่างมาก
ในที่นี้อาจแบ่ง Place ออกเป็น 2 ประเภทกว้างๆ คือ เว็บไซต์ของตัวเอง หรือ Third party platforms
- เว็บไซต์ของตัวเอง อันนี้ค่อนข้างจะชัดเจนตรงตัว การสร้างเว็บไซต์เป็นของตัวเองก็เหมือนการสร้างบ้านไว้ในโลกออนไลน์ ใครจะเข้ามาดูร้านของเราเมื่อไหร่ก็ได้ทุกเวลา แต่การสร้างเว็บไซต์เป็นของตัวเองนั้นอาจจะใช้งบประมาณเยอะไปบ้าง เรียกว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ทำให้ธุรกิจเล็กๆ ส่วนใหญ่นิยมใช้ Third party platforms
- Third party platforms คือ หมายถึงช่องทางคนเป็นตัวกลางเชื่อมเราเข้ากับกลุ่มเป้าหมาย ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต ทุกคนย่อมคุ้นเคยกับช่องทางเหล่านี้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, Shopee, Lazada, eBay, Etsy หรือ Amazon เอาเป็นว่ามีช่องทางมากมายที่เดียวที่เปิดให้ธุรกิจสามารถเปิดร้านบนแพลตฟอร์มเหล่านั้นได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายสูงเช่นการทำเว็บไซต์
Promotion ในออนไลน์มาร์เก็ตติ้ง
โปรโมชันหรือการโปรโมทในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการสร้างโปรโมชัน ลดแลกแจกแถม ซื้อ 1 แถม 1 แล้วหล่ะ แต่หมายถึงการทำให้ร้านเป็นที่รู้จักมากขึ้นในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการอย่างการทำ SEO การทำ Social media marketing การทำ Email marketing หรือการซื้อโฆษณาบน Google และอื่นๆ อีกมากมาย
อ่านต่อ: 8 วิธีโปรโมทและโฆษณาร้านอาหารออนไลน์
People ในออนไลน์มาร์เก็ตติ้ง
ทรัพยากรบุคคลในธุรกิจออนไลน์นั้น หลักๆ นั้นอาจโฟกัสที่แอดมิน หรือพนักงานที่คอยตอบคำถามเกี่ยวสินค้าและบริการผ่านแชท เพราะถือเป็นด่านหน้าที่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าโดยตรง เรียกได้ว่าเป็นภาพลักษณ์ของแบรนด์ การพูดจาโต้ตอบไม่สุภาพเพียงครั้งเดียว สามารถทำลายภาพลักษณ์ของร้านได้ เพราะลูกค้าสามารถเก็บหลักฐานการสนทนาแล้วเอาไปเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียได้อย่างง่ายดาย ดังนั้น การคัดเลือกบุคคลมาทำงานในส่วนนี้ต้องคัดเลือกให้ดี ต้องมี Guidelines ในการตอบคำถามให้ชัดเจน
นอกเหนือจากการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า การคัดเลือกทรัพยากรบุคคลในเชิงของการทำงานในส่วนต่างๆ เช่น คนดูแลแคมเปญโฆษณา Google คนช่วยยิงแอดใน Facebook คนช่วยดูแลเว็บไซต์ ทีมงานที่ทำ SEO ให้กับเว็บไซต์ของคุณ ไม่ว่าคุณจะเลือกฟรีแลนซ์หรือไว้วางใจเลือกเอเจนซี่เข้ามาช่วยงานก็ต้องเลือกให้ดี เลือกทีมงานที่ใส่ใจและเข้าธุรกิจของคุณจริงๆ
อ่านต่อ: 10 คำถามที่ต้องถามก่อนเลือกบริการ SEO
Process ในออนไลน์มาร์เก็ตติ้ง
ขั้นตอนในการนำเสนอสินค้าและให้บริการลูกค้าออนไลน์ของคุณเป็นอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มผ่านตัวกลาง ให้พิจารณานับตั้งแต่การเลือกซื้อสินค้า ขั้นตอนการจ่ายเงิน การรับยอดออเดอร์ เตรียมของ ส่งของ หรือบริการหลังการขาย มีจุดไหนที่ต้องปรับปรุงให้รวดเร็วขึ้น มีจุดไหนที่จะสามารถสร้างความประทับใจให้ลูกค้าได้อีก
Physical Evidence ในออนไลน์มาร์เก็ตติ้ง
อย่างที่ได้กล่าวถึงข้างต้นไปแล้วว่า Physical Evidence นั้นค่อนข้างกว้างมาก เป็นสิ่งที่อาจจะจับต้องไม่ได้ด้วยตา แต่เป็นการสัมผัสได้ด้วยความรู้สึก แน่นอนเมื่อเป็นธุรกิจออนไลน์ ก็ต้องตัดเรื่องบรรยากาศของร้านออกไป เพราะลูกค้าไม่สามารถมาสัมผัสได้ด้วยตัวเองแน่นอน
แต่นอกเหนือจากเรื่องของบรรยากาศของร้านแล้ว ทุกเรื่องที่เหลือยังคงสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับธุรกิจออนไลน์ ไม่ได้ว่าจะเป็นความใส่ใจในบริการ ความสุภาพ และความเป็นมืออาชีพที่ลูกค้าสามารถสัมผัสได้จากการแชทออนไลน์ หรือจะเป็นด้านความสวยงามของแบรนด์ดิ้ง/เว็บไซต์ ความเนี้ยบและความสวยงามที่อาจจะดูเป็นแค่เรื่องรองเหล่านี้ ล้วนส่งผลทำให้ลูกค้ารู้สึกไว้วางใจมากขึ้นได้ หรือแม้แต่เรื่องการแพ็คสินค้าว่าแพ็คแน่นหนาดีไหม แค่นี้ก็ส่งผลอย่างมากกับความรู้สึกของลูกค้า
สรุป
เป็นยังไงกันบ้างคะกับส่วนผสมทางการตลาดแบบ 4Ps + 7Ps ไม่ได้เข้าใจยากเลยจริงไหม แถมยังเป็น Framework ที่จำง่ายซะอีก ใครๆ ก็สามารถนำแนวคิดนี้ไปลองปรับใช้ดูกับธุรกิจหรืองานของตัวเองได้ รับประกันเลยว่าธุรกิจหรือโปรเจ็คของคุณจะมีแบบแผนในการทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอนมากขึ้น และทำให้คุณสามารถมองเห็นจุดบอดที่ตอนแรกมองไม่เห็น และปรับปรุงให้ดีขึ้นได้อีกมากโขเชียวหล่ะ! สุดท้ายนี้หากคุณกำลังมองหาบริการคีย์เวิร์ดรีเสิร์ช หรือบริการ SEO รายเดือนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำการตลาดออนไลน์ ทีมของเราที่ Search Studio พร้อมให้คำแนะนำและสนับสนุนคุณในทุกขั้นตอน!