ชั่วโมงนี้ คงปฏิเสธกันไม่ได้แล้วว่า การซื้อขายสินค้าผ่านตลาดออนไลน์กลายเป็นช่องทางธุรกิจที่สร้างผลกำไรเป็นกอบเป็นกำ มากกว่าการขายของหน้าร้านเสียอีก เพราะการตลาดออนไลน์เข้ามาแทนที่ด้วยข้อดีกับลูกค้ามากกว่าการขายสินค้าแบบเดิม ๆ ทั้งในเรื่องความสะดวกสบาย และประหยัดเวลา สำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์เองก็มี Payment Gateway เป็นตัวช่วยที่เข้ามาทำให้ระบบจัดการโอนเงิน และชำระค่าสินค้ามีความปลอดภัย และสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกันว่า Payment Gateway คืออะไร หาคำตอบพร้อมกันได้ในบทความนี้
Payment Gateway คืออะไร
หากจะกล่าวให้เข้าใจโดยง่าย Payment Gateway ก็คือ “ผู้ให้บริการระบบชำระเงินออนไลน์” ซึ่งช่วยให้ลูกค้าสามารถชำระเงินได้สะดวก และปลอดภัยขึ้น ไม่ว่าจะผ่านบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือ PromptPay ซึ่งอีกด้านหนึ่งก็ช่วยให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ได้รับเงินอย่างปลอดภัยนั่นเอง
Payment Gateway มีอะไรบ้าง
คงสงสัยกันแล้วใช่ไหมคะว่า Payment Gateway มีอะไรบ้าง Payment Gateway แบ่งออกเป็น 2 ระบบ คือ Payment Gateway Bank และ Online Payment Gateway (Non-bank)
Payment Gateway Bank คือ ระบบชำระเงินเชื่อมกับธนาคารโดยตรง ซึ่งระบบนี้มีข้อดี คือ ธนาคารจะเป็นผู้ให้บริการโดยตรง จึงความน่าเชื่อถือ ปลอดภัย และให้ความมั่นใจกับผู้ใช้งานได้มากกว่า มีค่าธรรมเนียมค่อนข้างต่ำ แต่มักจะมีเงื่อนไขในเรื่องเงินฝากค้ำประกันซึ่งค่อนข้างสูงเสียด้วยนะคะ ระบบนี้จึงมักจะเหมาะกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนที่มีทุนจดทะเบียน
Online Payment Gateway (Non-bank) คือ ระบบชำระเงินผ่านตัวกลางระหว่างผู้ค้ากับธนาคาร ซึ่งระบบนี้มีข้อดี คือ ไม่ต้องมีเงินฝากค้ำประกัน แต่มีค่าธรรมเนียมค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มร้านค้าออนไลน์เพราะสมัครง่าย สะดวก และไม่ยุ่งยาก
เลือก Payment Gateway ในไทยเจ้าไหนดี?
ปัจจุบันมี Payment Gateway ในไทยให้บริการอยู่หลายราย ซึ่งมีให้เลือกทั้งแบบ Payment Gateway Bank และ Online Payment Gateway (Non-bank) สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะใช้บริการชําระเงินออนไลน์ แต่ยังตัดสินใจไม่ได้ และไม่รู้จะเลือก Payment Gateway เจ้าไหนดี วันนี้ เรามีตัวอย่าง Payment Gateway ในไทยพร้อมข้อมูลแบบย่อ ๆ มานำเสนอให้ผู้อ่านทราบกันค่ะ
Payment Gateway Bank
K-Payment Gateway
ระบบบริการชําระเงินออนไลน์ของธนาคารกสิกรไทย ซึ่งสามารถแปลงสกุลแบบอัตโนมัติ และรองรับสกุลเงินต่างประเทศได้มากถึง 35 ประเทศทั่วโลก รับชำระได้ทั้งบัตรเครดิต เช่น VISA, MasterCard, UnionPay และ JCB รวมทั้งบัตรเดบิตด้วย โดยไม่มีค่าธรรมเนียมแรกเข้า และค่าธรรมเนียมรายปี แต่ต้องมีบัญชีเงินฝากค้ำประกัน 200,000 บาท และมีอัตราค่าธรรมเนียมต่อรายการประมาณ 3-5%
Merchant iPay
ระบบบริการชําระเงินออนไลน์ของธนาคารกรุงเทพ สามารถรองรับสกุลเงินต่างประเทศได้ถึง 27 ประเทศทั่วโลก รับชำระผ่านบัตรเครดิต เช่น MasterCard, VISA, UnionPay, JCB และ TPN รวมทั้งบัตรเดบิตด้วย โดยมีค่าธรรมเนียมแรกเข้า 1,500 บาท ค่าธรรมเนียมรายปี 1,000 บาท และค่าธรรมเนียมต่อรายการ 3–5% โดยต้องมีบัญชีเงินฝากค้ำประกัน 100,000 บาท
Online Payment Gateway (Non-bank)
PayPal
ระบบบริการชําระเงินออนไลน์ที่ได้รับความนิยมจากผู้คนทั่วโลก มีระบบแปลงสกุลเงินโดยอัตโนมัติ และรองรับสกุลเงินได้มากกว่า 25 ประเทศทั่วโลก ยินดีรับบัตรเครดิต เช่น Visa, Mastercard, AMEX, Discover และ UnionPay รวมทั้งบัตรเดรบิตอีกด้วย โดยลูกค้าไม่จำเป็นต้องเปิดบัญชี PayPal และไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมแรกเข้า และรายปี ยกเว้นค่าธรรมเนียมต่อรายการ ประมาณ 4.4% เท่านั้นค่ะ
Omise
ระบบบริการชําระเงินออนไลน์ที่ได้รับความไว้วางใจให้ดูแลระบบชำระเงินจากลูกค้าชั้นนำอย่าง King Power, Mcdonald, True, และ Minor International รวมทั้งลูกค้ารายย่อยอีกเป็นจำนวนมาก สามารถรองรับ การชำระเงินผ่านบัตรเครดิต บัตรเดบิต และระบบผ่อนชำระเงิน โดยไม่เสียค่าติดตั้ง ไม่มีค่าบริการรายเดือน ไม่มีค่าบริการอื่น ๆ และไม่มียอดการใช้งานขั้นต่ำ โดยมีค่าธรรมเนียมประมาณ 3.65% ค่ะ
2C2P
ระบบบริการชําระเงินออนไลน์ ความปลอดภัยสูงด้วยการเข้ารหัสในการชำระค่าบริการ และลูกค้าสามารถดูรายงานความเคลื่อนไหวเงินเข้าได้แบบเรียลไทม์ สามารถรองรับการชำระด้วยบัตรเครดิต เช่น American Express, Visa, Diners Club, MasterCard และ UnionPay รวมทั้งบัตรเดบิตด้วย ที่สำคัญ คือ ค่าธรรมเนียมถูกมากอยู่ที่ประมาณ 2.75% เท่านั้นค่ะ
Pay Solution
ระบบบริการชําระเงินออนไลน์ที่มีระบบความปลอดภัย SSL (Secure Socket Layer) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการเข้ารหัสข้อมูล ระหว่างเซิร์ฟเวอร์กับ Website และ Application ที่กำลังใช้งาน เพื่อสร้างมั่นใจให้ผู้ใช้บริการ และเพิ่มความสะดวกด้วย Tokenizer ระบบจดจำบัตรเครดิต เพื่อช่วยประหยัดเวลาในการกรอกข้อมูล รองรับบัตรเครดิต เช่น Visa, Mastercard, JCB, UnionPay และ AmericanExpress รวมทั้งบัตรเดบิตด้วย ส่วนค่าธรรมเนียมประมาณ 3.60%
บทส่งท้าย
เป็นยังไงกันบ้างสำหรับบทความ Payment Gateway ที่เรานำฝากผู้อ่านทุกท่าน เราได้รู้จักกับ Payment Gateway กันมากขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว Payment Gateway คือ เทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยจัดการระบบการชำระเงินออนไลน์ ซึ่งจะเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยให้กับผู้ซื้อและผู้ขายได้มั่นใจ และไม่เสียโอกาสในการปิดการขายนั่นเอง