เมื่อการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันโลกออนไลน์เข้ามามีบทบาทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การสร้างเว็บไซต์จึงเป็นแนวทางที่ธุรกิจจำนวนมากจำเป็นต้องทำเปรียบกับการมีหน้าร้านเพื่อให้ลูกค้าเข้าหา สร้างยอดขาย เพิ่มผลกำไร และความน่าเชื่อถือ ซึ่งใครก็ตามที่กำลังวางแผนอยากทำเว็บไซต์เป็นของตนเองสิ่งแรกที่ควรรู้จักนั่นคือ “Web Hosting” (เว็บโฮสติ้ง) มาถึงตรงนี้คงมีหลายคนสงสัยไม่น้อยว่า เว็บโฮสติ้ง (Web Hosting) คืออะไร ลองมาศึกษาข้อมูลแบบเจาะลึกกันได้เลย
อธิบายให้ชัด เว็บโฮสติ้ง (Web Hosting) คืออะไร
Web Hosting คือ พื้นที่ให้เช่าบนโลกออนไลน์สำหรับการฝากข้อมูลต่าง ๆ ของเว็บไซต์เอาไว้บนเครื่องเซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการ ซึ่งพื้นที่ของเว็บเซิร์ฟเวอร์นั้นสามารถเก็บได้ทั้งข้อมูลเว็บไซต์ อีเมล และฐานข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น HTML รูปภาพ คลิปวิดีโอ ข้อมูลสินค้า ไปจนถึงโปรแกรมเพื่อทำให้เว็บไซต์ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถออนไลน์ได้ตลอด 24 ชม. โดยเซิร์ฟเวอร์ดังกล่าวนี้มีชื่อเรียกว่า Web Server ทำหน้าที่เสมือนตัวกลางเพื่อแสดงผลลัพธ์เกี่ยวกับข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งเจ้าของเว็บไซต์ต้องการนำเสนอไปยังผู้เยี่ยมชม เมื่อมีคนกดเข้ามาผ่าน Domain (www) แล้วเข้าไปยังหน้าต่างใดของเว็บไซต์ก็ตามเนื้อหาในหน้านั้นก็จะถูกดึงออกมาแสดงให้เห็นทั้งหมด
อย่างที่บอกไปว่าเว็บโฮสติ้งยังเป็นพื้นที่ในการจัดเก็บข้อมูลอีเมล นั่นเท่ากับคุณสามารถใช้ชื่ออีเมลภายใต้นามสกุลโดเมนของเว็บไซต์เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ สามารถจัดสรรขนาดพื้นที่การใช้งานได้ตามความเหมาะสมอีกด้วย อย่างไรก็ตามด้วยราคาของเว็บเซิร์ฟเวอร์ที่สูงมาก อีกทั้งคนควบคุมต้องมีความชำนาญแบบเฉพาะทาง นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่คนส่วนใหญ่นิยมใช้บริการเช่า Hosting ซึ่งปัจจุบันก็มีด้วยกันอยู่หลายเจ้ามาก ขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือและคุณภาพให้บริการ จากความหมายที่กล่าวมาทั้งหมดนี้สามารถยืนยันได้ชัดเจน ไม่ว่าคุณจะสร้างเว็บไซต์เพื่อวัตถุประสงค์ใดก็ตามสิ่งแรกที่ต้องให้ความสำคัญมากสุดนั่นคือเว็บโฮสติ้ง และต้องเลือกผู้ให้บริการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อการใช้งานอันแสนเสถียร ลื่นไหล ไม่มีสะดุด รวมถึงหมดกังวลปัญหาเว็บล่มบ่อย ๆ อีกด้วย
ประเภทของ Web Hosting ที่ใช้งานกันในปัจจุบัน
- Shared Hosting
Shared Hosting คือเว็บโฮสติ้งที่ได้รับความนิยมกับเว็บไซต์ทั่วไป ไม่ได้มีการอัดข้อมูลใด ๆ เข้าไปเยอะมากนัก มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างหลายเว็บจากพื้นที่ซึ่งถูกแบ่งเอาไว้ จุดเด่นสำคัญต้องยกให้กับราคาอันแสนถูก แต่ก็แอบมีข้อจำกัดอยู่หลายส่วน เช่น การติดตั้งโปรแกรมสำคัญทำได้น้อย (บางรายไม่อนุญาตให้ใช้ WordPress ซึ่งเป็นเว็บไซต์สำเร็จรูปยอดนิยม) เป็นต้น
- Virtual Private Server Hosting
Virtual Private Server Hosting หรือที่หลายคนคุ้นกันในชื่อ VPS Hosting ลักษณะจะคล้ายกับเจ้าของเว็บไซต์ มีเครื่องเซิร์ฟเวอร์เป็นของตนเอง (Virtual Machine) ทำงานใกล้เคียงกับเว็บเซิร์ฟเวอร์ตัวใหญ่ ข้อดีคือหากคุณต้องการสร้างเว็บไซต์ที่มีข้อมูล โปรแกรม หรือแอปพลิเคชันเยอะมาก ๆ ก็รองรับได้สบาย ทำงานลื่นไหล กรณี VPS ตัวหนึ่งของผู้ให้บริการเสียหายก็จะไม่กระทบกับการทำงานของตัวอื่น รวมถึงบางเว็บแม้ข้อมูลไม่ได้เยอะมากแต่มียอด Traffic หรือคนเข้ามารับชมสูงก็แนะนำให้ใช้โฮสติ้งตัวนี้เนื่องจาก Bandwidth กับ Data Transfer ถูกแยกออกจากคนอื่นชัดเจน ไม่สร้างปัญหาขัดข้องใด ๆ แน่นอน
- Dedicated Server Hosting
การเช่า Hosting ประเภทนี้ผู้เช่าจะสามารถใช้งานได้แต่เพียงผู้เดียว ไม่ต้องไปเกี่ยวข้องกับคนอื่นใด ๆ ทั้งสิ้น ส่วนมากจะนิยมกับองค์กรตั้งแต่ระดับกลางขึ้นไป มียอด Traffic แต่ละวันสูง มีข้อมูล โปรแกรมบนหน้าเว็บเยอะ ต้องการความปลอดภัย รวมถึงเว็บที่อยาก Uptime มากเป็นพิเศษ แต่ย่อมแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายสุดแพงนั่นเอง
- Reseller Hosting
นี่คือ Web Hosting ที่ถูกใช้งานกับผู้ให้บริการเว็บเซิร์ฟเวอร์อีกทีหนึ่ง อธิบายง่าย ๆ คือ คนที่เปิดให้เช่าโฮสติ้งจะต้องใช้เว็บโฮสติ้งประเภทนี้เพื่อแบ่งพื้นที่ให้กับลูกค้าที่ต้องการเช่า Hosting สำหรับทำเว็บไซต์ หรือใช้เพื่อพัฒนาเว็บสำเร็จรูปออกสู่ตลาดให้คนซื้อใช้งาน รวมถึงบางคนที่ต้องดูแลหลายเว็บพร้อมกันก็สามารถเลือกใช้ได้
วิธีเลือกประเภทเว็บโฮสติ้งให้เหมาะกับเว็บไซต์ของตนเอง
จะเห็นว่า Web Hosting แต่ละประเภทก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันออกไป ดังนั้นการเลือกให้เหมาะกับเว็บไซต์ที่ตนเองอยากทำย่อมช่วยสร้างความคุ้มค่าและตรงกับเป้าหมายที่คาดหวังเอาไว้มากที่สุด ซึ่งคุณสามารถพิจารณาได้จากรายละเอียดต่อไปนี้
- ปริมาณพื้นที่ หรือ Disk Space ซึ่งถูกแบ่งออกให้ผู้ทำเว็บได้ใช้งาน ต้องเน้นขนาดที่คุ้มค่าเพียงพอกับแนวทางของเว็บที่จะทำ เพื่อไม่ต้องเจอกับปัญหาระบบช้า หรือใส่ข้อมูลไม่เพียงพอกับการนำเสนอ
- จุดประสงค์ของการทำเว็บ เช่น ถ้าคุณต้องการทำแค่เว็บเพื่อรองรับ Backlink สำหรับทำ SEO เน้นแค่เนื้อหาทั่วไปก็อาจเลือกเป็น Shared Hosting แต่ถ้าเป็นเว็บหลักของธุรกิจควรเลือกตั้งแต่ระดับ VPS ขึ้นไปจะตอบโจทย์มากที่สุด
- ปริมาณ Data Transfer กับ Bandwidth ซึ่งเปรียบได้กับตัวรับส่งข้อมูลและช่องทางในการรับส่ง มีผลโดยตรงต่อจำนวน Traffic อธิบายง่าย ๆ คือ หากเช่า Hosting พื้นที่น้อย หรือใช้แบบแชร์ร่วมกับผู้อื่นแต่เป็นจังหวะที่มีคนเข้ามาดูหน้าเว็บคุณเยอะในเวลาเดียวกัน โอกาสเกิดเว็บล่มจะสูงมากเนื่องจากขนาดและประสิทธิภาพรองรับการใช้งานไม่เพียงพอ จึงต้องวางแผนเลือกเพื่อเผื่อแนวโน้มในเรื่องนี้ด้วย
- หน่วยความจำสูง ประมวลผลเร็ว ส่งผลโดยตรงต่อความประทับใจของผู้เยี่ยมชม และยังมีผลต่อการทำอันดับ SEO อีกด้วย
- เลือกภาษาและระบบปฏิบัติการที่เหมาะกับเว็บไซต์หรือความถนัดของผู้ใช้งานเป็นหลัก เพราะส่วนมากพื้นฐานการใช้ไม่ว่าภาษาไทยหรืออังกฤษก็แทบไม่มีอะไรแตกต่างกันอยู่แล้ว เน้นว่าตนเองเข้าใจจะดีที่สุด
อยากเช่า Hosting ทำเว็บไซต์ เลือกผู้ให้บริการยังไง
มาถึงอีกเรื่องสำคัญมากสำหรับคนที่ต้องการทำเว็บไซต์ของตนเอง เพราะอย่างที่บอกไปว่าสิ่งแรกที่คุณควรคำนึงถึงคือการเลือกผู้ให้บริการ Web Hosting ที่มีประสิทธิภาพ เมื่อเช่า Hosting แล้วใช้งานได้อย่างไม่ติดขัด ลื่นไหล และยังสร้างผลลัพธ์เชิงบวกด้านอื่นให้กับเว็บด้วย ลองมาดูกันว่าควรเลือกยังไงดีนะ
- ความน่าเชื่อถือของผู้ให้บริการ
สิ่งแรกที่ต้องใส่ใจมากที่สุดคือความน่าเชื่อถือของผู้ให้บริการ เพราะนั่นบ่งบอกว่า Web Hosting ดังกล่าวมีประสิทธิภาพ สามารถใช้งานได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องกังวลเรื่องปัญหาเว็บล่ม ไปจนถึงความลื่นไหลต่าง ๆ ทั้งการอัปโหลดข้อมูล การดาวน์โหลดโปรแกรม และความลื่นไหลเมื่อมีคนกดเข้ามายังหน้าเว็บไซต์ของคุณ ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ที่ดีได้อีกด้วย ซึ่งความน่าเชื่อถือของผู้ให้บริการสามารถเช็กได้จากรีวิวของลูกค้าที่ใช้งานจริง ตัวอย่างลูกค้าที่มีชื่อเสียงของผู้ให้บริการ ไปจนถึงการลองสอบถามพูดคุยกับคนรู้จักที่มีเว็บไซต์อยู่พร้อมขอคำแนะนำก็ได้เช่นกัน
- การใช้งานและระบบการจัดการมีคุณภาพ
ทั้งการใช้งานง่าย สะดวก ระบบไม่ซับซ้อนมากเกินไป มีความปลอดภัยสูง ไม่ถูกแฮกข้อมูลจากเหล่ามิจฉาชีพ ไม่เจอกับอีเมลขยะหรือไวรัสที่ตั้งใจเข้ามาสร้างความปั่นป่วนให้กับระบบ สามารถสำรองข้อมูลได้รวดเร็วหากเว็บเกิดปัญหา มีตัวเลขสถิติต่าง ๆ ชัดเจนเพื่อพัฒนาเว็บให้มีคุณภาพสูงขึ้น รวมถึงมีการแจ้งเตือนเมื่อเว็บของคุณกำลังเผชิญกับปัญหาในทุกเรื่อง
- ให้คำแนะนำและบริการหลังการขายที่ยอดเยี่ยม
การเช่า Hosting ไม่ใช่แค่จ่ายเงินเพื่อให้ได้พื้นที่แล้วจบ แต่ผู้ให้บริการควรมีคำแนะนำที่เหมาะสมกับเว็บไซต์ที่กำลังจะสร้างขึ้น เช่น ถ้าเป็นองค์กรใหญ่ ใช้ข้อมูลเยอะ อาจแนะนำเป็น Dedicated Server Hosting มากกว่าแค่การใช้ VPS Hosting แต่ถ้าใครเน้นทำเว็บไซต์บริษัททั่วไปเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ก็อาจแนะนำเป็น VPS Hosting เพื่อช่วยประหยัดงบ แต่ยังมีคุณภาพและดีกว่า Shared Hosting เป็นต้น
- ช่องทางการติดต่อชัดเจน ตอบข้อมูลรวดเร็ว
เป็นเรื่องปกติเมื่อใช้งานเว็บโฮสติ้งแล้วบางครั้งอาจเจอกับปัญหาไม่คาดฝัน สิ่งสำคัญคือต้องสามารถติดต่อกับผู้ให้บริการตามช่องทางที่ระบุเอาไว้ได้อย่างรวดเร็ว มีการตอบกลับหรือแก้ไขปัญหาดังกล่าวทันท่วงทีเพื่อให้เว็บสามารถใช้งานต่อแบบไร้กังวล
- คุมงบได้ ราคาเหมาะสมคุ้มค่า
ท้ายที่สุดในการใช้งาน Web Hosting ใด ๆ ก็ตามต้องเลือกเจ้าที่มีราคาเหมาะสมเพื่อช่วยให้คุณสามารถคุมงบค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้แบบพอดี คุ้มค่ากับการลงทุน ตอบโจทย์กับสิ่งที่ได้รับกลับมา
เกณฑ์ในการทำอันดับ SEO ของเว็บไซต์บนหน้า Search Engine อย่าง Google ไม่ใช่แค่การอัปเดตเว็บสม่ำเสมอ คอนเทนต์มีคุณภาพ แต่ยังเกี่ยวข้องกับระบบใช้งานและประสบการณ์ของผู้ที่กดเข้าไปบนหน้าเว็บด้วย อธิบายง่าย ๆ คือ หากคุณเช่า Hosting ที่มีคุณภาพ ทั้งตัวผู้เยี่ยมชมเว็บจริงกับ Bot ของ Google พึงพอใจ คลิกไปหน้าไหนหรือดาวน์โหลดข้อมูลใดก็ใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาที และอยู่บนเว็บไซต์นาน ก็นับเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การทำ SEO ได้ผลลัพธ์ตามที่คาดหวังนั่นเอง ทั้งหมดนี้คือเนื้อหาเกี่ยวกับ Web Hosting ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้ทุกคนสามารถใช้งานเพื่อสร้างผลลัพธ์ตามเป้าหมายที่ตนเองคาดหวัง เพิ่มโอกาสเติบโตทางธุรกิจมากขึ้นกว่าเดิม หรือสร้างภาพลักษณ์ที่ดีได้อย่างที่ต้องการ
หากใครที่มีเว็บไซต์ธุรกิจที่ต้องการติดอันดับหน้าค้นหา ทาง Search Studio มีบริการรับทำ SEO ช่วยให้เว็บไซต์ติดอันดับหน้าค้นหา เรามีทีม SEO Specialist ที่เชี่ยวชาญในการทำ SEO สามารถติดต่อเราเพื่อขอรับคำปรึกษาได้ฟรีที่ admin@searchstudio.co.th