ย้อนกลับไปหลายปี หากเราจะเปิดดูเว็บไซต์ก็ต้องทำผ่านคอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียว แต่เดี๋ยวนี้มีอุปกรณ์มากมายที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ต อีกทั้งอุปกรณ์เหล่านี้ยังมีขนาดและความละเอียดของหน้าจอที่แตกต่างกัน ทำให้การแสดงผลของเว็บไซต์ในบางอุปกรณ์ไม่สวยงาม หรือใช้งานยาก เช่น ตัวหนังสือเล็กมาก หรือใหญ่เกิน ปุ่มเรียงกันมั่วไปหมด ปัจจุบันเว็บไซต์หลายแห่งจึงเริ่มหันมาใช้ “Responsive Web Design” ในการออกแบบกันมากขึ้น บทความนี้จะพาไปดูกันว่า Responsive Web Design คืออะไร และจะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไรบ้าง
Responsive Web Design คืออะไร?
Responsive Web Design คือการออกแบบเว็บไซต์ให้สามารถปรับรูปแบบการแสดงผลได้อัตโนมัติตามขนาดหน้าจอของอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาในการสร้างเว็บไซต์ได้มาก เพราะเดิมทีเว็บไซต์ส่วนใหญ่ถูกออกแบบมาเพื่อแสดงผลบนจอคอมพิวเตอร์เท่านั้น พอคนเริ่มใช้งานมือถือกันมากขึ้น จึงมีการพัฒนาเว็บไซต์เวอร์ชันมือถือแยกออกมาต่างหาก แต่ปัจจุบันความหลากหลายของอุปกรณ์มีมากขึ้นไปอีก การต้องสร้างเว็บหลายเวอร์ชันจึงเป็นเรื่องยุ่งยากไม่ใช่น้อย สู้ทำครั้งเดียวให้รองรับทุกอุปกรณ์ไปเลยสบายกว่าเยอะ!
ทำไม Responsive Web Design จึงแสดงผลได้ดีทุกอุปกรณ์
การสร้างเว็บไซต์ด้วย Responsive Web Design วิธีทำจะอาศัยการออกแบบเว็บไซต์ HTML และ CSS ให้มีความยืดหยุ่น เพื่อให้เว็บไซต์ปรับเปลี่ยนรูปแบบ หรือขนาดขององค์ประกอบต่างๆ ได้เอง และยังแสดงผลได้สวยงาม มีความใกล้เคียงกันบนทุกอุปกรณ์ โดยเทคนิคที่นิยมใช้ มีดังนี้
Fluid Grid
ออกแบบ Layout ให้มีความยืดหยุ่น โดยไม่กำหนดขนาดที่ตายตัว เช่น กว้าง 100 พิกเซล แต่ใช้หน่วยวัดที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามขนาดของหน้าจอ เช่น กำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์ หรือกำหนดขนาดของตัวอักษรเป็นหน่วย em เป็นต้น
Flexible Images
กำหนดขนาดและความละเอียดของรูปภาพเป็นเปอร์เซ็นต์ เช่น กว้างเป็น 50% ของขนาดคอนเทนเนอร์ หรือขนาด Viewport เพื่อให้ภาพมีขนาดที่เหมาะสม คมชัดในทุกหน้าจอ
Media Queries
สร้างชุดคำสั่งให้ตรวจสอบลักษณะของอุปกรณ์ เช่น ความกว้างหน้าจอ และปรับรูปแบบการแสดงผลให้เหมาะสมกับอุปกรณ์นั้นๆ
Responsive Web Design ส่งผลอย่างไรต่อการทำ SEO
หลักการออกแบบเว็บไซต์ด้วย Responsive Web Design ไม่เพียงแต่จะส่งผลต่อหน้าตาของเว็บไซต์เท่านั้น แต่ส่งผลโดยตรงต่อประสบการณ์ของผู้ใช้งาน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ Google นำมาประเมินคุณภาพ และจัดอันดับในหน้าผลการค้นหา เพราะถึงเว็บไซต์จะมีเนื้อหาที่ดีและน่าสนใจแค่ไหน แต่ถ้าหน้าเว็บไซต์โหลดช้า อ่านยาก ต้องคอยซูมเข้าซูมออก เลื่อนไปซ้ายทีขวาที คนก็มักจะเบื่อและกดออกอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการทำ SEO อย่างมาก เพราะ Google จะมองว่าเว็บไซต์เหล่านี้ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานได้ดีพอ หรือไม่ตรงกับคีย์เวิร์ดที่ผู้ใช้งานค้นหา
เพราะฉะนั้นเราจึงมักจะย้ำอยู่เสมอว่า หนึ่งในปัจจัยสำคัญของการทำ SEO คือการออกแบบหน้าเว็บไซต์ให้เป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน รวมถึงปรับแต่ง On-page SEO เช่น Title Tags, Headers, Meta Descriptions, Alt Image ฯลฯ ให้ถูกหลัก จะช่วยดึงดูดความสนใจ ทำให้ผู้อ่านอยู่ในเว็บไซต์นานขึ้น หรือคลิกไปอ่านในหน้าอื่นๆ ต่อ อีกทั้งยังช่วยให้ Google เข้าใจเนื้อหาของเว็บไซต์ได้ดี และทำให้เว็บไซต์ของคุณมีโอกาสติดอันดับสูงขึ้น
6 ขั้นตอนทำ Responsive Web Design
รวบรวมข้อมูล
การออกแบบเว็บไซต์ด้วย Responsive Web Design จะเน้นความเรียบง่าย จึงควรรวบรวมเนื้อหาทั้งหมด เพื่อดูว่าส่วนไหนสำคัญ และนำไปวางในตำแหน่งที่โดดเด่น ส่วนเนื้อหาที่เป็นส่วนเสริม อาจจะตัดออกในบางอุปกรณ์ เพื่อไม่ให้เว็บไซต์ดูรกจนเกินไป
ออกแบบ
เริ่มออกแบบจากขนาดหน้าจอที่เล็กที่สุดก่อน จะง่ายต่อการเขียนโค้ดมากกว่า โดยทั่วไปคือขนาดของหน้าจอมือถือประมาณ 320px ลองใส่เฉพาะหัวข้อของเนื้อหาที่เราต้องการ เพื่อดูว่าควรจัดกลุ่ม หรือเรียงลำดับแบบไหนให้ใช้งานง่ายที่สุด
เขียน Style Sheets
นำเทคนิค Fluid Grid และ Flexible Images มาใช้จัดการกับองค์ประกอบต่างๆ ที่ต้องการนำเสนอ
ตั้งค่า Breakpoint
พรีวิวหน้าเว็บไซต์ และค่อยๆ เพิ่มขนาดหน้าจอ เมื่อพบว่าที่ขนาดใดควรมีการปรับเปลี่ยน Layout ให้เข้ากับหน้าจอของอุปกรณ์ที่ใหญ่ขึ้น ให้กำหนดจุดนั้นเป็น Breakpoint แล้วใช้ Media Query กำหนด Style sheets
กำหนด Viewport Meta Tag
มือถือรุ่นใหม่ๆ มีความละเอียดหน้าจอสูงขึ้นมาก จนเทียบเท่าหรือสูงกว่าหน้าจอคอมพิวเตอร์ในอดีต ซึ่งหากเรากำหนด Viewport เป็น CSS Pixels เนื้อหาก็จะถูกแสดงผลในรูปแบบเดียวกับบนจอคอมพิวเตอร์ จึงต้องตั้งค่าให้เป็น Device Pixels และกำหนดระดับการซูมเริ่มต้นของหน้าเว็บให้อยู่ที่ 100%
ทดสอบ
เมื่อพัฒนาเว็บไซต์เสร็จแล้ว ต้องทดสอบการแสดงผลบนอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าเว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างราบรื่น และแสดงผลถูกต้องตามที่ออกแบบไว้
ข้อดี-ข้อเสียของการทำ Responsive Web Design
ข้อดี
ง่ายต่อการดูแล
การอัปเดตหรือแก้ไขข้อมูลครั้งเดียว จะส่งผลต่อการแสดงผลบนทุกอุปกรณ์ จึงช่วยลดขั้นตอนและความยุ่งยากในการทำงาน
ประหยัดค่าใช้จ่าย
ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาและดูแลเว็บไซต์แบบ Responsive Web Design จะถูกกว่าการสร้างเว็บไซต์แยกหลายเวอร์ชัน
เว็บไซต์โหลดไวขึ้น
เนื้อหาที่ถูกปรับให้เหมาะกับขนาดหน้าจอ จะช่วยให้เว็บไซต์โหลดเร็วขึ้น ซึ่งความเร็วในการโหลดนี้ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อการจัดอันดับของ Google ด้วย
เว็บไซต์ดูสวยงามน่าเชื่อถือ
ไม่ว่าผู้ใช้งานจะเปิดเว็บไซต์จากอุปกรณ์ชนิดใด ก็จะแสดงผลอย่างสวยงาม เนื้อหาอ่านง่าย รูปภาพคมชัด ส่งผลให้ธุรกิจมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น
อันดับที่ดีขึ้นบน Google
เว็บไซต์ที่รองรับทุกอุปกรณ์ จะช่วยเพิ่มปริมาณการเข้าชม และการมีส่วนร่วมบนเว็บไซต์ อีกทั้ง Google ยังนำระบบ Mobile First Indexing มาใช้จัดอันดับ โดยให้ความสำคัญกับเว็บไซต์ที่รองรับมือถือได้ดี (Mobile-friendly) เป็นหลัก
วางแผนธุรกิจง่ายขึ้น
สามารถรวบรวมและวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ใช้งานทั้งหมดได้ในคราวเดียว ไม่ต้องแยกไปเก็บข้อมูลจากหลายช่องทาง ง่ายต่อการวางแผนการตลาด ปรับปรุงเนื้อหา หรือพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ ให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้
ข้อเสีย
ออกแบบได้อย่างจำกัด
ไม่เหมาะสำหรับเว็บไซต์ที่เน้นความหวือหวา ลูกเล่นเยอะ กราฟิกอลังการ เพราะจะทำให้เว็บไซต์ทำงานช้า หรือแสดงผลผิดเพี้ยนในบางอุปกรณ์
ใช้เวลาพัฒนาเว็บไซต์นาน
โดยทั่วไปการทำ Responsive Web Design จะใช้เวลาออกแบบนานกว่าเว็บไซต์แบบทั่วไป เนื่องจากต้องคำนึงถึงการแสดงผลบนอุปกรณ์ต่างๆ และต้องมีการทดสอบอย่างละเอียดในทุกอุปกรณ์
จะเห็นได้ว่าการทำ Responsive Web Design นั้นมีข้อดีมากมาย จึงถือได้ว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าสำหรับธุรกิจที่อยากสร้างการเติบโตบนโลกออนไลน์ เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นผลดีต่อการทำ SEO เท่านั้น แต่ยังช่วยให้เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย และสร้างยอดขายได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังเป็นการเตรียมพร้อมรับมือที่ดี เพื่อรองรับการเปิดตัวอุปกรณ์ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
สำหรับใครที่สนใจในการทำ SEO ให้กับเว็บไซต์ของตนเองนั้น ที่ Search Studio เรามีบริการรับทำ SEO ที่ปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับธุรกิจของคุณโดยเฉพาะ ช่วยให้เว็บไซต์ติดอันดับบนหน้าค้นหาอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถติดต่อเพื่อรับคำปรึกษาหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ admin@searchstudio.digital ได้เลยค่ะ 🙂